รายงานสมุนไพร เล่ม 1

ภายในเล่มรายงานมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับ

กลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ
กลุ่มยาถ่าย
กลุ่มยาถ่ายพยาธิ
กลุ่มยาบำรุงหัวใจ
กลุ่มยาลดไขมันในเส้นเลือด
กลู่มยาแก้กลากเกลื้อน

ดาวโหลดไปได้เลยครับ คลิกที่นี่ครับ
ระหว่างการดาวโหลดขอให้แสดงความคิดเห็นให้กำลังใจกันบ้างน่ะครับ 

ส่วนนี่คือเนื้อหาอย่างคร่าวๆ ของกลุ่มยาถ่ายครับ
กลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ
กานพลู

ชื่อวิทยาศาสตร์   Syzygium aromaticum (L.) Merr.& L.M.Perry
ชื่อพ้อง :  Caryophyllus aromatica  L. ; Eugenia aromatica  (L.) Baill; E.Caryophylla (Spreng.) Bullock et Harrison;  E.caryophyllata Thunb.
ชื่อสามัญ  Clove Tree
วงศ์  Myrtaceae
ชื่ออื่น :  -
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 9-12 เมตร อาจสูงได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดเป็นรูปกรวยคว่ำ แตกกิ่งต่ำ ลำต้นตั้งตรง เปลือกเรียบ สีเทา ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก รูปรี หรือรูปไข่กลับแคบๆ กว้าง 8-11 ซม. ยาว 32-37 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบแคบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเป็นมัน มีต่อมน้ำมันมาก เส้นแขนงใบข้างละ 15-20 เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว 1-2.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายยอด ยาวประมาณ 5 ซม. ก้านช่อดอกสั้นมาก แต่อาจยาวได้ถึง 1 ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว 2-3 มม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ โคนติดกันเป็นหลอดยาว 5-7 มม. เมื่อเป็นผลขยายออกเป็นรูปกรวยยาวประมาณ 1 ซม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ ยาว 3-4 มม. กลีบดอก 4 กลีบ รูปขอบขนานหรือกลม ยาว 7-8 มม. มีต่อมมน้ำมันมาก ร่วงง่าย เกสรเพศผู้จำนวนมาก ร่วงง่าย ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 7 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 4 มม. ผล รูปไข่กลับกามรูปรี ยาว 2-2.5 ซม. แก่จัดสีแดง มี 1 เมล็ด          กานพลูเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะโมลุกกะ น้ำไปปลูกในเขตร้อนทั่วโลก ในปะเทศไทยนำมาปลูกบ้างแต่ไม่แพร่หลาย ชอบขึ้นในดินร่วนซุย การระบายน้ำดี ความชื้นสูง ฝนตกชุก ขึ้นได้ดีบนพื้นที่ราบถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเล 800-900 เมตร
ส่วนที่ใช้ :  เปลือกต้น ใบ ดอกตูม ผล น้ำมันหอมระเหยกานพลุ
สรรพคุณ :
  • เปลือกต้น  -  แก้ปวดท้อง แก้ลม คุมธาตุ 
  • ใบ แก้ปวดมวน
  • ดอกตูม - รับประทานขับลม ใช้แต่งกลิ่น

    ดอกกานพลูแห้ง ที่ยังไม่ได้สกัดเอาน้ำมันออก และมีกลิ่นหอมจัด มีน้ำมันหอมระเหยมาก รสเผ็ด ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง และแน่นจุกเสียด แก้อุจจาระพิการ แก้โรคเหน็บชา แก้หืด แก้ไอ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้เลือดเสีย ขับน้ำคาวปลา แก้ลม แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้เสมหะเหนียว ขับผายลม ขับลมในลำไส้ แก้ท้องเสียในเด็ก แก้ปากเหม็น แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้รำมะนาด กับกลิ่นเหล้า แก้ปวดฟัน
  • ผล -  ใช้เป็นเครื่องเทศ เป็นตัวช่วยให้มีกลิ่นหอม
  • น้ำมันหอมระเหยกานพลู - ใช้เป็นยาชาเฉพาะแห่ง แก้ปวดฟัน ฆ่าเชื้อทางทันตกรรม เป็นยาระงับการชักกระตุก ทำให้ผิวหนังชา
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
  • แก้อาการท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม และปวดท้อง

    ใช้ดอกกานพลูโตเต็มที่ ที่ยังตูมอยู่ 4-6 ดอก หรือ 0.25 กรัม

    ในผู้ใหญ่
      - ใช้ทุบให้ช้ำ ชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว

    ในเด็ก -
     
    ใช้ 1 ดอก ทุบแล้วใส่ลงในขวดนม
    เด็กอ่อน - ใช้ 1 ดอก ทุบใส่ในกระติกน้ำที่ไว้ชงนม ช่วยไม่ให้เด็กท้องขึ้นท้องเฟ้อได้
  • ยาแก้ปวดฟัน

    ใช้นำมันจากการกลั่นดอกตูมของดอกกานพลู 4-5 หยด ใช้สำลีพันปลายไม้ จุ่มน้ำมันจิ้มในรูฟันที่ปวด จะทำให้อาการปวดทุเลา และใช้แก้โรครำมะนาดก็ได้

    หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยว แล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟันเพื่อระงับอาการปวด หรือใช้ ดอกกานพลูตำพอแหลกผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะใช้จิ้มหรืออุดฟันที่ปวด
  • ระงับกลิ่นปาก

    ใช้ดอกตูม 2-3 ดอก อมไว้ในปาก จะช่วยทำให้ระงับกลิ่นปากลงได้บ้าง
สารเคมี : Eugenol, Cinnamic aldehyde Vanillin น้ำมันหอมระเหย Caryophylla - 3(12)-6-dien-4-ol

 
กระวาน


ชื่อวิทยาศาสตร์  Amomum krervanh Pierre
ชื่อสามัญ  Siam Cardamom, Best Cardamom, Clustered Cardamom, Camphor Seed
วงศ์   Zingiberaceae
ชื่ออื่น :  กระวานดำ กระวานแดง กระวานขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก) กระวานจันทร์ กระวานโพธิสัตว์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุก มีเหง้า สูงประมาณ 2 เมตร กาบใบหุ้มซ้อนกันทำให้ดูคล้ายลำต้น ใบเดี่ยว แคบยาว รูปขอบขนาน ยาว 15-25 ซม. ปลายแหลม ช่อดอกออกจากเหง้าชูขึ้นมาเหนือพื้นดิน รูปทรงกระบอก ยาว 6-15 ซม. ก้านช่อดอกยาว 5-15 ซม. ใบประดับสีเหลืองนวล มีขนคาย เรียงซ้อนสลับกันตลอดช่อ ในซอกใบประดับมีดอก 1-3 ดอก  ปลายกลีบเลี้ยงมี 3 หยัก  กลีบดอกสีเหลือง เป็นหลอดแคบ เกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์แปรสภาพเป็นกลีบขนาดใหญ่ สีขาว มีแถบสีเหลืองตรงกลาง  ผลค่อนข้างกลม สีนวล มี 3 พู ผลอ่อนมีขนและจะร่วงไปเมื่อแก่ ผลแก่จะแตก มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก เมล็ดอ่อนสีขาวมีเยื่อหุ้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ ทั้งผลและเมล็ดมีกลิ่นหอม
ส่วนที่ใช้ :  ราก หัวและหน่อ  เปลือก แก่น กระพี้ ผลแก่ที่มีอายุ 4-5 ปี (เก็บในช่วงเดือนสิงหาคม-มีนาคม)  เมล็ด
สรรพคุณ :
  • รากแก้โลหิตเน่าเสีย ฟอกโลหิต แก้ลม เสมหะให้ปิดธาตุ รักษาโรครำมะนาด
  • หัวและหน่อ - ขับพยาธิในเนื้อให้ออกทางผิวหนัง
  • เปลือก - แก้ไข้ ผอมเหลือง รักษาโรคผิวหนัง แก้ไข้อันง่วงเหงา ขับเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้อันเป็นอชินโรค และอชินธาตุ
  • แก่น - ขับพิษร้าย รักษาโรคโลหิตเป็นพิษ
  • กระพี้ - รักษาโรคผิวหนัง บำรุงโลหิต
  • ใบ - แก้ลมสันนิบาต แก้สันนิบาตลูกนก ขับผายลม ขับเสมหะ แก้ไข้เพื่อลม รักษาโรครำมะนาด แก้ลมเสมหะให้ปิดธาตุ แก้ไข้เซื่องซึม แก้ลม แก้จุกเสียด บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ  แก้ไข้อันง่วงเหงา
  • ผลแก่  - รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย (Essential oil) 5-9 เปอร์เซนต์ มีฤทธิ์ในการขับลม (Carminative) และฤทธิ์ในการยับยั้ง การเจริญของเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ขับโลหิต บำรุงธาตุ แก้ลมในอกให้ปิดธาตุ แก้ลมเสมหะให้ปิดธาตุ แก้ลมเจริญอาหาร รักษาโรค รำมะนาด แก้ลมจุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้ลมสันนิบาต ผลแก่ของกระวานตากแห้ง ใช้เป็นเครื่องเทศ
  • เมล็ด - แก้ธาตุพิการ อุจจาระพิการ บำรุงธาตุ
  • เหง้าอ่อน - ใช้รับประทานเป็นผักได้ มีกลิ่นหอมและเผ็ดเล็กน้อย
วิธีและปริมาณที่ใช้
ผลกระวาน ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด ใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล (0.6-2 กรัม) ตากแห้งบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือครึ่งถ้วยแก้ว ใช้รับประทานครั้งเดียว ผลกระวาน ยังใช้ผสมยาถ่าย เช่น มะขามแขกเพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้อง

สารเคมี :  ในน้ำมันหอมระเหย กระวาน (Essential oil) พบสารเคมีคือ Borneol, Cineol, Camphor
ที่มา http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_06_1.htm


 
กุ่มน้ำ


ชื่อวิทยาศาสตร์  Crataeva magna (Lour.) DC.
วงศ์  CAPPARACEAE
ชื่ออื่น :  กุ่มน้ำ (ภาคกลาง), รอถะ (ละว้า-เชียงใหม่, ภาคเหนือ), เหาะเถาะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), อำเภอ (ภาคตะวันตกเฉียงใต้, สุพรรณบุรี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 5-20 ม. ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบ ก้านใบประกอบยาว 4-14 ซม. หูใบเล็ก ร่วงง่าย ใบย่อยรูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-6.5 ซม. ยาว 4.5-18 ซม. ปลายค่อยๆ เรียวแหลม ยาวประมาณ 2.5 ซม. โคนสอบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบเบี้ยวเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนาเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ 9-20 เส้น บางครั้งพบมีถึงข้างละ 22 เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ใบแห้งสีค่อนข้างแดง ใบย่อยไม่มีก้านหรือถ้ามียาวไม่เกิน 5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจะถี่ ออกที่ยอด ช่อหนึ่งมีหลายดอก ก้านดอกยาว 4-7 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ปลายแหลม กว้างประมาณ 2 มม. ยาว 2-4 มม. กลีบดอกสีขาว ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง รูปค่อนข้างกลมหรือรูปรี กว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 1.5-3 ซม. โคนกลีบเป็นเส้นคล้ายก้าน ยาว 0.5-1.2 ซม. เกสรเพศผู้สีม่วง มี 15-25 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 3.5-6.5 ซม. อับเรณูยาว 2-3 มม. ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 3.5-8 ซม. รังไข่รูปรีหรือทรงกระบอก มี 1 ช่อง ผลสีนวล รูปรี กว้าง 1.5-4.5 ซม. ยาว 5-8 ซม. เปลือกผลมีนวล ก้านผลยาว 8-13 ซม. หนา 3-5 มม. มีเมล็ดมาก เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม รูปเกือกม้า ขนาดกว้างและยาวเท่าๆ กันคือ 6-9 มม.
ส่วนที่ใช้: ใบ เปลือก กระพี้ แก่น ราก ดอก ผล
สรรพคุณ :
  • ใบ  -   ขับเหงื่อ
  • เปลือก  -  แก้สะอึก
  • กระพี้ -  แก้ริดสีดวงทวาร
  • แก่น -  แก้นิ่ว
  • ราก -  ขับหนอง
  • ดอก - แก้เจ็บตา และในลำคอ
  • แก้ไข้


 
ดีปลี


ชื่อวิทยาศาสตร์  Piper retrofractum  Vahl
ชื่อสามัญ  long pepper
วงศ์   Piperaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถารากฝอยออกบริเวณข้อเพื่อใช้ยึดเกาะ ใบ เดี่ยวรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 3-5 ซม. ยาว 7-10 ซม. สีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยอัดกันแน่น แยกเพศ ผล เป็นผลสด มีสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง รสเผ็ดร้อน
ส่วนที่ใช้ : ราก เถา ใบ ดอก ผลแก่จัด แต่ยังไม่สุก หรือตากแดดให้แห้ง
สรรพคุณ :
  • ราก  -   แก้พิษอัมพฤกษ์ อัมพาต พิษปัตคาด แก้ตัวร้อน แก้พิษคุดทะราดให้ปิดธาตุ แก้ท้องร่วง ขับลมในลำไส้  แก้คุดทะราด
  • เถา -  แก้พิษงู ขับเสมหะ แก้ปวดฟัน ปวดท้อง จุกเสียด แก้เสมหะพิการ แก้ลมอัมพฤกษ์ แก้มุตฆาต
  • ใบ - แก้ปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็น
  • ดอก - แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียดแน่นท้อง ขับลมในลำไส้ให้ผายและเรอ แก้หืด ไอ แก้ริดสีดวง คุดทะราด แก้ลมวิงเวียน แก้เสมหะ น้ำลายเหนียว แก้ไอ บำรุงธาตุ แก้ท้องเสีย แก้ปถวีธาตุ 20 ประการ แก้อัมพาต และเส้นปัตคาด
  • ผลแก่จัด - รสเผ็ดร้อน แก้ลม บำรุงธาตุไฟ แก้หืดไอ แก้เสมหะ(หลังเป็นหวัด) แก้หลอดลมอักเสบ ยาขับระดู ยาธาตุ ทาแก้ปวดเมื่อยและอักเสบของกล้ามเนื้อ แก้อาการท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อแน่นจุกเสียด ขับลม บำรุงธาตุ  ใช้ประกอบตำรายาที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ธาตุไม่ปกติ (ใช้เป็นยาขับลม แต่ไม่นิยมใช้ โดยมากนำมาเป็นเครื่องเทศ)
วิธีและปริมาณที่ใช้
  • อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง และแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ
    โดยใช้ผลดีปลีแก่แห้ง 1 กำมือ (ประมาณ 10-15 ผล) ต้มเอาน้ำดื่ม ถ้าไม่มีผลใช้เถาต้มแทนได้
  • อาการไอ และขับเสมหะ
    ใช้ผลแห้งแก่ ประมาณครึ่งผล ฝนกับน้ำมะนาวแทรกเกลือเล็กน้อย กวาดคอ หรือจิบบ่อยๆ
  • ผลดีปลีแห้งใช้เป็นเครื่องเทศ ประกอบอาหาร มีรสเผ็ดร้อน ขม
สารเคมีที่พบ
        มีน้ำมันหอมระเหย และแอลคาลอยด์ ชื่อ P-Methoxy acetophenone, Dihydrocarveol, Piperine, Pipelatine Piperlongumine, Sylvatine และ Pyridine alkaloids อื่นๆ



 
เทพธาโร
ชื่อวิทยาศาสตร์  Cinnamomum porrectum (Roxb.) Kosterm.
วงศ์  Lauraceae
ชื่ออื่น :  จวง จวงหอม (ภาคใต้) จะไคต้น จะไคหอม (ภาคเหนือ) พลูต้นขาว (เชียงใหม่) มือแดกะมางิง (มลายู-ปัตตานี) การบูร (หนองคาย)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น สูง 10 – 30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่ม ทึบ กิ่งอ่อนเกลี้ยงและมักจะมีคราบขาว เปลือกสีเทาอมเขียวหรือสีน้ำตาลคล้ำ แตกเป็นร่องยาวตามลำต้น ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรีแกมรูปไข่ ยาว 7 – 20 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนสอบ ก้านใบเรียวเล็ก ยาวประมาณ 2.5 – 3.5 เซนติเมตร ดอก สีขาว เหลืองอ่อน ออกเป็นช่อประจุกตามปลายกิ่ง ผลกลมเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.7 เซนติเมตร สีเขียว
ส่วนที่ใช้ ใบ เปลือก ต้น
สรรพคุณ :
  • ใบ  -   รสร้อน ใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้ลม จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้อาการปวดท้อง ขับผายลมได้ดี ขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหารให้เรอ เป็นยาบำรุงธาตุ ขับเสมหะ
  • เปลือก  -  รสร้อน มีน้ำมันระเหย 1-25 % และแทนนิน แก้ลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง ขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหาร บำรุงธาตุ
วิธีการใช้ : เนื้อไม้สีขาว มีกลิ่นหอมฉุนเหมือนกลิ่นการะบูน อาจกลั่นเอาน้ำมันระเหยออกมาจากเนื้อไม้นี้ได้ และอาจดัดแปลงทางเคมี ให้เป็นการะบูนได้ ใบมีกลิ่นหอมเป็นเครื่องเทศตามร้านขายยาสมุนไพรในประเทศไทย ใช้ใบนี้เป็นใบกระวานสำหรับใส่เครื่องแกงมัสหมั่น ทุกร้านถ้าเราไปขอซื้อใบกระวานจะได้ใบไม้นี้ ส่วนใบกระวานจริงๆ เราไม่ได้ใช้กัน (ใบกระวานจริงๆ ลักษณะเหมือนใบข่า)


พริกไทย


ชื่อวิทยาศาสตร์  Piper nigrum  L.
ชื่อสามัญ  Black Pepper
วงศ์  Piperaceae
ชื่ออื่น :  พริกน้อย (ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้เลื้อยมีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ลำต้นมีข้อและป้องชัดเจน ใบเดี่ยวออกสลับ รูปไข่หรือรี ปลายใบแหลม โคนใบมนกลมหรือแหลมเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้าง 3.5 - 6 ซม. ยาว 7 - 10 ซม. เส้นใบที่บริเวณโคนใบมี 3 - 5 เส้น ดอกออกเป็นช่อและออกตรงข้ามกับใบ ช่อรูปก้านใบยาว 10 - 20 มม. ติดอยู่ตามแกนช่อดอกรองรับดอก รังไข่กลมปลายเกสรแยก 3 - 6 แฉก ช่อดอกตัวผู้มีดอกที่มีเกสรตัวผู้ 2 อัน ผลรวมกันบนช่อยาว 5 - 15 ซม. ผลรูปทรงกลมขนาด 4 - 5 ซม. แก่แล้วมีเมล็ดสีดำ ภายในมี 2 เมล็ด
ส่วนที่ใช้ : ใบ ผล เมล็ด ดอก
สรรพคุณ :
  • ใบ  -   แก้ลมจุกเสียดแน่น ท้องอืดเฟ้อ
  • ผล - ผลที่ยังไม่สุกนำมาเป็นเครื่องเทศ แต่งกลิ่นอาหาร
  • เมล็ด - ขับลม ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ  อาหารไม่ย่อย
  • ดอกแก้ตาแดง ถนอมอาหารหลายชนิด เช่น มะม่วงดอง
วิธีและปริมาณที่ใช้ :  ใช้เมล็ด 0.5-1 กรัม ประมาณ 15-20 เมล็ด บดเป็นผง ชงรับประทาน 1 ครั้ง
สารเคมี
:  มีน้ำมันหอมระเหย 2-4 % มีแอลคาลอยด์หลักคือ piperine 5-9% ซึ่งเป็นตัวทำให้มีความเผ็ด นอกจากนี้ยังพบ piperidine, pipercanine เป็นตัวทำให้มีกลิ่นฉุนและรสเผ็ด (ซึ่งเดิมคิดว่าเป็น chavicine) พริกไทยอ่อนนั้นมีน้ำมันหอมระเหยต่ำกว่า พริกไทยดำ และมีโปรตีน 11%  คาร์โบไฮเดรต 65%

 


ไพล


ชื่อวิทยาศาสตร์  Zingiber montanum (Koenig) Link ex Dietr.
ชื่อพ้อง  Z.purpureum  Roscoe
วงศ์  Zingiberaceae
ชื่ออื่น :  ปูลอย ปูเลย (ภาคเหนือ) ว่านไฟ (ภาคกลาง) มิ้นสะล่าง(ฉาน-แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกสูง 0.7-1.5 เมตร มีเหง้าใต้ดิน เปลือกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองถึงเหลืองแกมเขียว แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ซึ่งประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 3.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 18-35 เซนติเมตร ดอกช่อ แทงจากเหง้าใต้ดิน กลีบดอกสีนวล ใบประดับสีม่วง ผลเป็นผลแห้งรูปกลม
ส่วนที่ใช้
เหง้าแก่จัด เก็บหลังจากต้นไพลลงหัวแล้ว
สรรพคุณ :
  • เหง้า 
    -
      เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม
    - แก้บิด ท้องเดิน ขับประจำเดือนสตรี ทาแก้ฟกบวม แก้ผื่นคัน
    - เป็นยารักษาหืด
    - เป็นยากันเล็บถอด
    - ใช้ต้มน้ำอาบหลังคลอด
  • น้ำคั้นจากเหง้า -  รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกบวม แพลงช้ำเมื่อย
  • หัว - ช่วยขับระดู ประจำเดือนสตรี เลือดร้าย แก้มุตกิตระดูขาว แก้อาเจียน แก้ปวดฟัน
  • ดอก - ขับโลหิตกระจายเลือดเสีย
  • ต้น - แก้ธาตุพิการ แก้อุจาระพิการ
  • ใบ - แก้ไข้ ปวดเมื่อย แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้เมื่อย
วิธีและปริมาณที่ใช้
1.   แก้ท้องขึ้น ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม
ใช้เหง้าแห้งบดเป็นผง รับประทานครั้งละ ½ ถึง 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน ผสมเกลือเล็กน้อย ดื่ม
2.   รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง
ใช้หัวไพลฝนทาแก้ฟกบวม เคล็ด ขัด ยอก
ใช้เหง้าไพล ประมาณ 1 เหง้า ตำแล้วคั้นเอาน้ำทาถูนวดบริเวณที่มีอาการ หรือตำให้ละเอียด ผสมเกลือเล็กน้อยคลุกเคล้า แล้วนำมาห่อเป็นลูกประคบ อังไอน้ำให้ความร้อน ประคบบริเวณปวดเมื่อยและบวมฟกช้ำ เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย หรือทำเป็นน้ำมันไพลไว้ใช้ก็ได้ โดยเอาไพล หนัก 2 กิโลกรัม ทอดในน้ำมันพืชร้อนๆ 1 กิโลกรัม ทอดจนเหลืองแล้วเอาไพลออก ใส่กานพลูผงประมาณ 4 ช้อนชา ทอดต่อไปด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ 10 นาที กรองแล้วรอจนน้ำมันอุ่นๆ ใส่การบูรลงไป 4 ช้อนชา ใส่ภาชนะปิดฝามิดชิด รอจนเย็น จึงเขย่าการบูรให้ละลาย น้ำมันไพลนี้ใช้ทาถูนวดวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลาปวด (สูตรนี้เป็นของ นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา)
3.   แก้บิด ท้องเสีย
ใช้เหง้าไพลสด 4-5 แว่น ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำเติมเกลือครึ่งช้อนชา ใช้รับประทาน หรือฝนกับน้ำปูนใส รับประทาน
4.   เป็นยารักษาหืด
ใช้เหง้าไพลแห้ง 5 ส่วน พริกไทย ดีปลี อย่างละ 2 ส่วน กานพลู พิมเสน อย่างละ ½ ส่วน บดผสมรวมกัน ใช้ผงยา 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนรับประทาน หรือปั้นเป็นลูกกลอนด้วยน้ำผึ้ง ขนาดเท่าเม็ดพุทรา รับประทานครั้งละ 2 ลูก ต้องรับประทานติดต่อกันเวลานาน จนกว่าอาการจะดีขึ้น
5.   เป็นยาแก้เล็บถอด
ใช้เหง้าไพลสด 1 แง่ง ขนาดเท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเกลือและการบูร อย่างละประมาณครึ่งช้อนชา แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นหนอง ควรเปลี่ยนยาวันละครั้ง
6.   ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื่น และเป็นยาช่วยสมานแผลด้วย
ใช้เหง้าสด 1 แง่ง ฝานเป็นชิ้นบางๆ ใช้ต้มรวมกับสมุนไพรอื่นๆ เนื่องจากไพลมี่น้ำมันหอมระเหย
สารเคมี - Alflabene : 3,4 - dimethoxy benzaldehyde, curcumin, beta-sitosterol, Volatile Oils

มะรุม


ชื่อวิทยาศาสตร์  Moringa oleifera  Lam.
ชื่อสามัญ Horse radish tree, Drumstick
วงศ์  Moringaceae
ชื่ออื่น :  กาเน้งเดิง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ผักเนื้อไก่ (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) ผักอีฮึม ผักอีฮุม มะค้อนก้อม (ภาคเหนือ)  เส่ช่อยะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้ยืนต้นสูง 3-6 เมตรหรือใหญ่กว่าเปลือกสีขาว รากหนานุ่ม ใบสลับแบบขนนก 2 หรือ 3 ชั้น ยาว 20-60 ซนติเมตร ใบชั้นหนึ่งมีใบย่อย 8-10 คู่ ใบแบบรูปไข่รูปไข่หัวกลับรูปคู่ขนาน ใต้ใบสีเขียวอ่อน ใบอ่อนมีขนสีเทาขนาดใบยาว 1-3 เซนติเมตร ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวหรือขาวอมเหลืองแต้มสีแดงเข้าที่ใกล้ฐานด้านนอกยาว 1.4-1.9 เซนติเมตรกว้าง 0.4 เซนติเมตรปลายกลีบดอกกว้างกว่าโคน 4 กลีบ ตั้งตรง เกสรตัวผู้แยกจากกันสมบูรณ์ 5 อันไม่สมบูรณ์ 5 อันเรียงสลับกันมีขนสีขาว ที่โคนอับเกสรสีเหลืองเกสรตัวเมีย 1 อัน ผลยาวเป็นฝัก 3 เหลี่ยม เมล็ดมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร 3 ปีก
ส่วนที่ใช้ : เปลือกต้น ราก ฝัก
สรรพคุณ :
  • ฝัก  -  ปรุงเป็นอาหารรับประทาน
  • เปลือกต้น - มีรสร้อน รับประทานเป็นยาขับลมในลำไส้ ทำให้ผายหรือเรอ คุมธาตุอ่อนๆ (ตัดต้นลมดีมาก)
  • ราก - มีรสเผ็ด หวานขม แก้บวม บำรุงไฟธาตุ มีคุณเสมอกับกุ่มบก
          - แก้พิษ ฝี แก้ปวด แก้อักเสบ
    แพทย์ตามชนบท ใช้เปลือกมะรุมสดๆ ตำบุบพอแตกๆ อมไว้ข้างแก้ม แล้วรับประทานสุราจะไม่รู้สึกเมาเลย

เร่ว


ชื่อวิทยาศาสตร์  Amomum xanthioides  Wall.
ชื่อสามัญ Bustard cardamom, Tavoy cardamom
วงศ์  Zingiberaceae
ชื่ออื่น :   หมากแหน่ง (สระบุรี) หมากเนิง (อีสาน) มะอี้ หมากอี้ มะหมากอี้ (เชียงใหม่) หน่อเนง (ชัยภูมิ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ในดิน จัดเป็นพืชสกุลเดียวกับ กระวาน ข่า ขิง ใบมีลักษณะยาวเรียว ปลายใบแหลมและห้อยโค้งลง ก้านใบมีขนาดสั้น ออกดอกเป็นช่อจากยอดที่แทงขึ้นมาจากเหง้า ดอกมีสีขาวก้านช่อดอกสั้น ผลมีขนสีแดงปกคลุม เมล็ดมีสีน้ำตาล เร่วมีหลายชนิด เช่น เร่วหอม เร่วช้าง เร่วกอ ซึ่งเร่วเหล่านี้มีลักษณะต้นแตกต่างกันไป
ส่วนที่ใช้ :  เมล็ดจากผลที่แก่จัด ราก ต้น ใบ ดอก ผล
สรรพคุณ :
  • เมล็ดจากผลที่แก่จัด 
    -
      เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม
    -
      แก้คลื่นเหียนอาเจียน ขับน้ำนมหลังจากคลอดบุตร
  • ราก - แก้หืด แก้ไอ แก้ไข้เซื่องซึม
  • ต้น - แก้คลื่นเหียน อาเจียน
  • ใบ - ขับลม แก้ปัสสาวะพิการ
  • ดอก - แก้พิษอันเกิดเป็นเม็ดผื่นคันตามร่างกาย
  • ผล- รักษาโรคริดสีดวงทวาร แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ปวดท้อง
วิธีและปริมาณที่ใช้
  • แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลมแน่นจุกเสียด
    โดยนำเมล็ดในของผลแก่มาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1-3 กรัม (ประมาณ 3-9 ผล) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
  • ใช้เป็นเครื่องเทศ โดยใช้เมล็ด
สารเคมี - Essential Oil น้ำมันหอมระเหยจากผล P-Methyloxy- trans ethylcinnamate







 

ว่านน้ำ



ชื่อวิทยาศาสตร์ Acorus calamus  L.
ชื่อสามัญ  Mytle Grass, Sweet Flag
วงศ์  Araceae
ชื่ออื่น :  คงเจี้ยงจี้ ผมผา ส้มชื่น ฮางคาวน้ำ ฮางคาวบ้าน (ภาคเหนือ) ตะไคร้น้ำ (เพชรบุรี)  ทิสีปุตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ว่านน้ำ ว่านน้ำเล็ก ฮางคาวผา (เชียงใหม่)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ว่านน้ำมีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินลักษณะเป็นแท่งค่อนข้างแบน มีใบแข็งตั้งตรง รูปร่างแบนเรียวยาวคล้ายใบดาบฝรั่ง ปลายใบแหลม แตกใบเรียงสลับซ้ายขวาเป็นแผง ใบค่อนข้างฉ่ำน้ำ ดอกมีสีเขียวมีขนาดเล็กออกเป็นช่อ มีจำนวนมากอัดกันแน่นเป็นแท่งรูปทรงกระบอก มีก้านช่อดอกลักษณะคล้ายใบ ทั้งใบ เหง้า และรากมีกลิ่นหอมฉุน ชอบขึ้นตามที่น้ำขัง หรือที่ชื้นแฉะ
ส่วนที่ใช่ :  ราก เหง้า น้ำมันหอมระเหยจากต้น
สรรพคุณ :
  • ราก

    รับประทานมาก ทำให้อาเจียน แต่มีกลิ่นหอม รับประทานน้อย เป็นยาแก้ปวดท้อง ธาตุเสีย บำรุงธาตุ แก้จุก ขับลมในลำไส้ ปรุงลงในยาขมต่างๆ ทำให้ระงับอาการปวดท้องได้ดี
-  ในว่านน้ำมีสารชนิดหนึ่งเรียกว่า อาโกริน acorine มีรสขมและแอลคาลอยด์ คาลาไมท์ อยู่ในนี้เป็นยาแก้บิด เป็นยารักษาบิดของเด็ก (คือมูกเลือด) และหวัดลงคอ (หลอดลมอักเสบ) ได้อย่างดี เป็นยาขับเสมหะอย่างดี ชาวอินเดียใช้ฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ เคี้ยว 2-3 นาที แก้หวัดและเจ็บคอ และใช้ปรุงกับยาระบายเพื่อเป็นยาธาตุด้วยในตัว

-
 
เป็นยาเบื่อแมลงต่างๆ เช่น แมลงวัน

-
  เป็นยาแก้เส้นกระตุก แก้หืด ขับเสมหะ แก้ปวดศีรษะ แก้ Hysteria และ Neuralgia แก้ปวดกล้ามและข้อ แก้โรคผิวหนัง
เหง้า - ใช้ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้โรคผิวหนัง เป็นยาหอม
น้ำมันหอมระเหยจากต้น - แก้ชัก เป็นยาขมหอม ขับแก๊สในท้อง ทำให้เจริญอาหาร ช่วยการย่อย
วิธีใช้และปริมาณที่ใช้ :
บำรุงธาตุ - ใช้เหง้าสด 9-12 กรัม หรือแห้ง 3-6 กรัม ชงด้วยน้ำร้อน 2 ถ้วยแก้ว ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว ก่อนอาหารเย็น ติดต่อกันจนกว่าธาตุจะปกติ
แก้ปวดท้องและจุกแน่น -ใช้รากว่านน้ำ หนัก 60 กรัม โขลกให้ละเอียด ชงลงในน้ำเดือด 420 ซีซี. รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง
เป็นยาดูดพิษ แก้อาการอักเสบของหลอดลมและปอด - ใช้รากฝนกับสุรา เจือน้ำเล็กน้อย ทาหน้าอกเด็ก
เป็นยาแก้ไอ -  ใช้ชิ้นเล็กๆ ของรากว่านน้ำแห้ง อมเป็นยาแก้ไอ มีกลิ่นหอมระเหยทางลมหายใจ
ป็นยาถอนพิษของสลอด และแก้โรคลงท้องปวดท้องของเด็ก - ใช้รากว่านน้ำเผาจนเป็นถ่าน ทำผงรับประทานมื้อละ 0.5 ถึง 1.5 กรัม ใช้ใบว่านน้ำสดตำละเอียดผสมน้ำสุมศีรษะแก้ปวดศีรษะได้ ตำพอกแก้ปวดกล้ามและข้อ ตำรวมกับชุมเห็ดเทศ แก้โรคผิวหนัง
เป็นยาขมหอม เจริญอาหาร ขับแก๊ส ช่วยย่อยอาหาร - ในน้ำมันหอมระเหยมีวัตถุขมชื่อ acorin และมีแป้งและแทนนินอยู่ด้วย ทำเป็นยาชง (1 ใน 10) รับประทาน 15-30 ซีซี. หรือทิงเจอร์ (1 ใน 5) รับประทาน 2-4 ซีซี. ขนาดใช้ 1-4 กรัม
สารเคมี มีน้ำมันหอมระเหย (Calamus oil)  2-4% ในน้ำมันประกอบด้วย Sesquiterpene  เช่น  asarone, Betasalone (มี 70-80 %)  และตัวอื่นๆ ยังมี glucoside รสขมชื่อ acorin


โหระพา


ชื่อวิทยาศาสตร์  Ocimum basilicum  L.
ชื่อสามัญ  Sweet Basil
วงศ์  Labiatae
ชื่ออื่น :  ห่อกวยซวย ห่อวอซุ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) อิ่มคิมขาว (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีขนาดเล็ก มีลักษณะหรือลักษณะพิเศษของโหระพาดังนี้ เป็นพืชที่มีอายุได้หลายฤดู มีลักษณะลำต้นเป็นสี่เหลี่ยมและเป็นพุ่ม ลำต้นจะแตกแขนงได้มากมาย กิ่งก้านมีสีม่วงแดง มีขนอ่อนๆ ที่ผิวลำต้น ใบมีรูปร่างแบบรูปไข่ปกติจะยาวไม่เกิน ๒ นิ้ว ใบจะเรียงตัวแบบตรงกันข้ามกัน ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ใบมีสีเขียวอมม่วงและมีก้านใบยาว ดอกโหระพา ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือม่วงจะออกเป็นช่อคล้ายฉัตรที่ยอด ดอกมีทั้งสีม่วง แดงอ่อน และสีขาว ในแต่ละดอกจะมีเกสรตัวผู้ ๔ อัน รังไข่แต่ละอันจะมีสีม่วง เมล็ดมีสีดำมีกลิ่นหอมทั้งต้น
ส่วนที่ใช้ : ทั้งต้น เมล็ด และราก
  • ทั้งต้น - เก็บเมื่อเริ่มเข้าฤดูหนาว ขณะเจริญเต็มที่ มีดอกและผลล้างให้สะอาด หั่นเป็นท่อนตาแห้งเก็บไว้ใช้
  • เมล็ด - นำต้นไปเคาะ แยกเอาเมล็ดตากแห้งเก็บไว้ใช้ (ระวังไม่ให้ถูกน้ำเพราะจะจับกันเป็นก้อน)
  • ราก - ใช้รากสด หรือตากแห้ง เก็บไว้ใช้ 
สรรพคุณ :
  • ทั้งต้น
    - รสฉุน สุขุม ขับลม ทำให้เจริญอาหาร
    - แก้ปวดหัว หวัด ปวดกระเพาะอาหาร
    - จุกเสียดแน่น ท้องเสีย
    -
      ประจำเดือนผิดปกติ
    - ฟกช้ำจากหกล้ม หรือกระทบกระแทก งูกัด
    -
      ผดผื่นคัน มีน้ำเหลือง
  • เมล็ด
    - รสชุ่ม เย็น สุขุม ถูกน้ำจะพองตัวเป็นเมือก
    - ใช้แก้ตาแดง มีขี้ตามาก ต้อตา
    - ใช้เป็นยาระบาย (ใช้เมล็ด 4-12 กรัม แช่น้ำเย็นจนพอง ผสมน้ำหวาน เติมน้ำแข็งรับประทาน)
  • ราก - แก้เด็กเป็นแผล มีหนองเรื้อรัง
วิธีและปริมาณที่ใช้
  • ทั้งต้น - แห้ง 6-10 กรัม ต้มน้ำดื่ม หรือใช้สดคั้นเอาน้ำดื่ม ใช้ภายนอก ตำพอก หรือต้มน้ำชะล้าง หรือเผาเป็นเถ้า บดเป็นผง ผสมทา
  • เมล็ด - แห้ง 2.5-5 กรัม ต้มน้ำหรือแช่น้ำดื่ม ใช้ภายนอก บดเป็นผงแต้มทา
  • ราก - เผา เป็นเถ้าพอก
  • ใบ
    - ใช้ใบคั้นเอาน้ำ 2-4 กรัม ผสมน้ำผึ้ง จิบแก้ไอและหลอดลมอักเสบ
    - ใช้สำลีก้อนเล็กๆ ชุบน้ำคั้นจากใบอุดโพรงฟันที่ปวด แก้ปวดฟัน
สารเคมี
          น้ำมันหอมระเหยจากใบ ประกอบด้วย Ocimine, alpha-pinene, 1,8- cineole, eucalyptol ,linalool, geraniol,limonene, eugenol, methyl chavicol, eugenol methyl ether.methyl cinnaminate, 3- hexen -1- ol, estragol


 
อบเชยเทศ


ชื่อวิทยาศาสตร์  Cinnamomum verum  J.Presl
ชื่อสามัญ  Cinnamon Tree
วงศ์  Lauraceae
ชื่ออื่น :  -
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ เปลือกลำต้นมีสีเทาและหนา กิ่งขนานกับพื้นและตั้งชันขึ้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกลับกันตามลำต้น ลักษณะใบคล้ายรูปไข่ ปลายใบแหลม มีเส้นใบสามเส้น ดอก ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ขนาดเล็ก สีเหลือง มีกลิ่นหอม ผลมีสีดำคล้ายรูปไข่
ส่วนที่ใช้
: เปลือกต้น ใบ
สรรพคุณ :
  • เปลือกต้น 
    - ใช้บำรุงดวงจิต แก้อ่อนเพลีย ทำให้มีกำลัง
      

    - ใช้ขับลม บำรุงธาตุ
    - บดเป็นผงใช้เป็นเครื่องเทศใส่อาหาร
    - ใส่เครื่องสำอาง
    - ใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียน และจุกเสียด
  • ใบ
    - มีน้ำมัน ใช้แต่งกลิ่น
    - ฆ่าเชื้อ


 

อบเชยต้น (เชียด)


ชื่อวิทยาศาสตร์  Cinnamomum iners Reinw. ex Blume
ชื่อสามัญ  Cinnamon
วงศ์  Lauraceae
ชื่ออื่น : กระแจะโมง กะเชียด กะทังนั้น (ยะลา) กระดังงา (กาญจนบุรี) กะพังหัน โกเล่ เนอม้า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เขียด เคียด เฉียด ชะนุต้น (ภาคใต้) มหาปราบตัวผู้ อบเชย อบเชยต้น (ภาคกลาง)  ดิ๊กซี่สอ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) บอกคอก (ลำปาง) ฝักดาบ (พิษณุโลก) พญาปราบ (นครราชสีมา) สะวง (ปราจีนบุรี) 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น  ใบและเปลือกหอม   ใบ เดี่ยว  เรียงตรงข้าม  เมื่อขยี้ใบจะมีกลิ่นหอม   ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง  สีเหลืองอ่อนหรือเขียวอ่อน  เหม็น  กลีบรวมชั้นนอก 3 กลีบ  คล้ายกลีบเลี้ยง   กลีบรวมชั้นใน 3 กลีบ  แยกกันแต่ติดตรงโคน ผลสด แก่สีม่วงดำ
ส่วนที่ใช้ : เปลือก ใบ
สรรพคุณและวิธีใช้
  • เปลือก 
    - หอมหวาน บำรุงดวงจิต แก้อ่อนเพลัน ทำให้มีกำลัง ขับผายลม
      
    - เปลือกต้ม หรือทำเป็นผง แก้โรคหนองในและแก้โทษน้ำคาวปลา
    - ใช้เป็นยานัตถุ์ แก้ปวดศีรษะ ปรุงรับประทานเป็นยาบำรุงกำลัง และปรุงเป็นยาแก้บิด และไข้สันนิบาต
  • ใบ - เป็นสมุนไพรหอม ปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียนและจุกเสียดแน่นและลงท้อง เป็นยาบำรุงกำลัง และบำรุงธาตุ
  • รากกับใบ - ต้มน้ำรับประทาน แก้ไข้เนื่องจากความอักเสบของสตรีที่คลอดบุตรใหม่ๆ

13 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ12 ตุลาคม 2554 เวลา 21:02

    ขอขอบคุณผู้จัดทำที่ให้ความรู้เรื่องสมุนไพรเป็นอย่างมาก และอยากให้คนไทยหันมาใช้สมุนไพรกันให้มากจะได้เป็นผลดีต่อตัวผู้ใช้และประเทศชาติ

    จากลูกหลานคนไทย

    ตอบลบ
  2. เป็นประโยชน์มากมาย ตามหามานานแล้วครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ11 มกราคม 2556 เวลา 21:41

    ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ31 มกราคม 2556 เวลา 05:44

    ขอบคุณคะ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ26 กันยายน 2556 เวลา 21:33

    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Moringa oleifera Lam.
    ชื่อสามัญ : Horse radish tree, Drumstick
    วงศ์ : Moringaceae
    ชื่ออื่น : กาเน้งเดิง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ผักเนื้อไก่ (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) ผักอีฮึม ผักอีฮุม มะค้อนก้อม (ภาคเหนือ) เส่ช่อยะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
    ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้ยืนต้นสูง 3-6 เมตรหรือใหญ่กว่าเปลือกสีขาว รากหนานุ่ม ใบสลับแบบขนนก 2 หรือ 3 ชั้น ยาว 20-60 ซนติเมตร ใบชั้นหนึ่งมีใบย่อย 8-10 คู่ ใบแบบรูปไข่รูปไข่หัวกลับรูปคู่ขนาน ใต้ใบสีเขียวอ่อน ใบอ่อนมีขนสีเทาขนาดใบยาว 1-3 เซนติเมตร ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวหรือขาวอมเหลืองแต้มสีแดงเข้าที่ใกล้ฐานด้านนอกยาว 1.4-1.9 เซนติเมตรกว้าง 0.4 เซนติเมตรปลายกลีบดอกกว้างกว่าโคน 4 กลีบ ตั้งตรง เกสรตัวผู้แยกจากกันสมบูรณ์ 5 อันไม่สมบูรณ์ 5 อันเรียงสลับกันมีขนสีขาว ที่โคนอับเกสรสีเหลืองเกสรตัวเมีย 1 อัน ผลยาวเป็นฝัก 3 เหลี่ยม เมล็ดมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร 3 ปีก
    ส่วนที่ใช้ : เปลือกต้น ราก ฝัก
    สรรพคุณ : •ฝัก - ปรุงเป็นอาหารรับประทาน
    •เปลือกต้น - มีรสร้อน รับประทานเป็นยาขับลมในลำไส้ ทำให้ผายหรือเรอ คุมธาตุอ่อนๆ (ตัดต้นลมดีมาก) •ราก - มีรสเผ็ด หวานขม แก้บวม บำรุงไฟธาตุ มีคุณเสมอกับกุ่มบก
    - แก้พิษ ฝี แก้ปวด แก้อักเสบ
    แพทย์ตามชนบท ใช้เปลือกมะรุมสดๆ ตำบุบพอแตกๆ อมไว้ข้างแก้ม แล้วรับประทานสุราจะไม่รู้สึกเมาเลย
    ที่มา http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_06_7.htm



    ตอบลบ
  6. ทำได้ดีมาก ขอบคุณสำหรับข้อมูลคับ

    ตอบลบ

เพื่อนบ้าน



แลกลิงค์ของคุณได้ที่นี่ค่ะ
ลิงค์ของเรามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างนี้ค่ะ

หากคุณต้องการที่จะนำลิงค์ของคุณมาเพิ่มในเว็บบล๊อกของเราให้คุณส่งข้อมูลลิงค์ของคุณมาได้ที่ได้ที่ E-mail...... < so.saichool@hotmail.com > ค่ะ แล้วเราจะทำการนำลิงค์ของคุณลงในเว็บบล๊อกของเราโดยเร็วที่สุด

หมายเหตุคุณต้องนำลิงค์ของเราลงในเว็บไซต์ของคุณให้เรียบร้อยเสียก่อนโดยเราจะตรวจสอบหลังจากที่คุณส่งข้อมูลที่คุณต้องการแลกลิงค์ของคุณมายังอีเมล์ของเรา (ข้อมูลคือโค้ดลิงค์ของคุณ)
ก๊อปปี้โค้ดลิงค์ลิงค์นี่ไปวางในเว็บของคุณ

ผู้ส่งเสริม

ลงโฆษณาที่นี่ครับ