กลุ่มยาถ่าย


กาฬพฤกษ์


ชื่อวิทยาศาสตร์  Cassia grandis  L.f.
ชื่อสามัญ   Pink Shower , Horse cassia
วงศ์  LEGUMINOSAE - CAESALPINIOIDEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น ผลัดใบ สูงถึง 20 เมตร โคนมีพูพอน เปลือกสีดำ แตกเป็นร่องลึก กิ่งอ่อนหรือช่อดอกมีขนสีน้ำตาล ใบ ประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยมี 10-20 คู่ ใบอ่อนสีแดง แผ่นใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีขน ดอก เริ่มบานสีแดงแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูตามลำดับ ระยะออกดอกเดือน กุมภาพันธ์ - มีนาคม ผล เป็นฝัก ฝักแก่แห้งไม่แตก ค่อนข้างกลม รูปทรงกระบอก โคนและปลายสอบ เปลือกหนาแข็ง ขรุขระ ที่ขอบฝักเป็นสันตามแนวยาวทั้ง 2 ข้าง ขนาดกว้าง 0.8-1.2 ซม. ยาว 1.3-1.8 ซม. เมล็ดอ่อนสีครีม เมล็ดแก่สีน้ำตาล มีจำนวน 20-40 เมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ส่วนที่ใช้ : เนื้อในฝัก  เปลือก เมล็ด
สรรพคุณ :
  • เนื้อในฝัก  -  ปรุงรับประทานเป็นยาระบายอ่อนๆ
    ขนาดรับประทาน - รับประทานได้ถึงครั้งละ 8 กรัม ไม่ปวดมวนและไม่ไซ้ท้องเลย แต่ความแรงสู้คูนไม่ได้
      
  • เปลือก และ เมล็ด  - รับประทานทำให้อาเจียน เป็นยาถ่ายพิษไข้ได้ดี
คูน


ชื่อวิทยาศาสตร์  Cassia fistula  L.
ชื่อสามัญ   Golden shower, Indian laburnum, Pudding - pine tree
วงศ์  LEGUMINOSAE - CAESALPINIOIDEAE
ชื่ออื่น :   กุเพยะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ (ภาคกลาง) ปือยู ปูโย เปอโซ แมะหล่าหยู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ลมแล้ง (เหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดกลาง ลำต้นสีน้ำตาลแกมเทาเกลี้ยงๆ ชอบขึ้นตามป่าผลัดใบ หรือในที่ดินที่มีการถ่ายเทน้ำได้ดี ใบ เป็นใบช่อสีเขียวเป็นมัน ช่อหนึ่งๆ ยาวประมาณ 2.5 ซม. มีใบย่อยรูปป้อมๆ หรือรูปไข่ 3-6 คู่ ใบย่อยกว้างๆ 5-7 ซม. ยาว 9-15 ซม. โคนใบมนและค่อยๆ สอบไปทางปลายใบ เนื้อใบเกลี้ยงค่อนข้างบาง เส้นแขนงใบถี่ และโค้งไปตามรูปใบ ดอก ออกเป็นช่อ ยาว 20-45 ซม. กลีบรองกลีบดอกรูปขอบขนานยาวประมาณ 1 ซม. มี 5 กลีบ มักหลุดร่วงง่าย กลีบดอกยาวกว่ากลีบรองกลีบดอกประมาณ 2-3 เท่า และมีกลีบรูปไข่กลับ 5 กลีบ ตามพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน เกสรผู้มีขนาดแตกต่างกันจำนวน 10 อัน ก้านอับเรณูโค้งงอขึ้น ผล เป็นฝักรูปทรงกระบอกเกลี้ยงๆ อาจยาวถึง 50 ซม. โตวัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.0-2.5 ซม. ฝัก อ่อนสีเขียวและออกสีดำเมื่อแก่จัด ในฝักจะมีผนังเยื่อบางๆ กั้นเป็นช่องๆ ตามขวางของฝัก และตามช่องเหล่านี้จะมีเมล็ดแบนๆ สีน้ำตาลอยู่

ส่วนที่ใช้ : ใบ ดอก เปลือก แก่น ราก ฝักแก่ เปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้ม กระพี้ เมล็ด


สรรพคุณ :
  • ใบ  -   ขับพยาธิ
  • ดอก - แก้บาดแผลเรื้อรัง
  • เปลือก  -  บำรุงโลหิต
  • กระพี้แก้โรครำมะนาด
  • แก่นขับไส้เดือนในท้อง
  • รากแก้ไข้ แก้โรคคุดทะราด
  • เมล็ด - รักษาโรคบิด
  • ฝักแก่ - รสหวานเอียนเล็กน้อย เป็นยาระบายถ่ายสะดวกไม่มวนไม่ไซ้ท้อง มีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone glycoside) เป็นตัวยาระบาย
วิธีและปริมาณที่ใช้ : โดยเอาเนื้อในฝักแก่ก้อนเท่าหัวแม่มือ (ประมาณ 4 กรัม) น้ำ 1 ถ้วยแก้วต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนนอนหรือตอนก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว          เหมาะเป็นยาระบายสำหรับคนที่ท้องผูกเป็นประจำและสตรีมีครรภ์
 
 
 
 
 
จำปา



ชื่อวิทยาศาสตร์   Michelia champaca  L.
ชื่อสามัญ Champak
วงศ์  MAGNOLIACEAE
ชื่ออื่น :  จำปากอ (มลายู-ใต้) จำปาเขา จำปาทอง (นครศรีธรรมราช) จำปาป่า (สุราษฎร์ธานี) Champak, Orange Chempaka, Sonchampa

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 15-30 เมตร ลำต้นเปลาตรง ทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวยคว่ำ สำหรับต้นที่ปลูกเลี้ยงเป็นไม้ดอกไม้ประดับกันอยู่ทั่วไปนั้น เป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติจากต้นที่มีขนาดเล็ก แต่มีดอกดก ดอกมีขนาดใหญ่และออกดอกได้ตลอดปี ใบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-9 ซม. ยาว 10-22 ซม. ใบบาง เส้นแขนงใบ 12-20 คู่ ก้านใบยาว 2-4 ซม. โคนก้านใบป่อง ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอกสีเหลืองส้ม ออกตามซอกใบ กาบหุ้มดอกสีเขียวอ่อน มี 1 แผ่น ดอกบานตั้งขึ้นและส่งกลิ่นหอมแรง กลีบดอกมี 12-15 กลีบ กลีบนอกรูปใบหอก ค่อนข้างกว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 4-4.5 ซม. กลีบในแคบและสั้นกว่า ผล กลุ่ม เป็นช่อยาว ประกอบด้วยผลย่อย 8-40 ผล อยู่รอบแกน ผลย่อยค่อนข้างกลมหรือกลมรี เปลือกหนาแข็ง มีช่องอากาศเป็นจุดเล็กสีขาวอยู่ทั่วไป ผลแก่แห้งแตกแนวเดียว ขนาดผลย่อยกว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 1.5-2 ซม. ผลอ่อนสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อนประจุดสีขาว เมล็ด มีเนื้อหุ้ม รูปเสี้ยววงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 ซม. เมล็ดอ่อนมีเนื้อหุ้มสีขาว เมล็ดแก่เนื้อหุ้มสีแดง ผลย่อยมี 1-6 เมล็ด

ส่วนที่ใช้ : ดอก เปลือกต้น เปลือกราก ใบ กระพี้ เนื้อไม้ เมล็ด ราก น้ำมันกลั่นจากดอก
สรรพคุณ :
  • ใบ  -  แก้โรคเส้นประสาทพิการ แก้ป่วงของทารก
  • ดอก - แก้วิงเวียนอ่อนเพลีย หน้ามืดตาลาย บำรุงหัวใจ กระจายโลหิต
  • เปลือกต้น  - ฝาดสมาน แก้ไข้ ทำให้เสมหะในลำคอเกิด
  • เปลือกราก - เป็นยาถ่าย ทำให้ประจำเดือนมาปกติ รักษาโรคปวดตามข้อ 
  • กระพี้ -  ถอนพิษผิดสำแดง
  • เนื้อไม้ - บำรุงโลหิต 
  • ราก -  ขับโลหิตสตรีที่อยู่ในเรือนไฟให้ตก
  • น้ำมันกลั่นจากดอก - แก้ปวดศีรษะ แก้ตาบวม
ชุมเห็ดเทศ



ชื่อวิทยาศาสตร์   Cassia alata ( L.) Roxb.
ชื่อสามัญ  Ringworm Bush
วงศ์   Leguminosae
ชื่ออื่น :  ขี้คาก ลับมีนหลวง หมากกะลิงเทศ ชุมเห็ดใหญ่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่ม สูง 1-3 เมตร แตกกิ่งออกด้านข้างในแนวขนานกับพื้น ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนานรูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง 3-7 ซ.ม. ยาว 6-15 ซ.ม. หนูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกช่อ ออกที่ซอกใบตอนปลายกิ่งกลีบดอกสีเหลืองทองใบประดับสีน้ำตาลแกมเหลือง หุ้มดอกย่อยเห็นชัดเจน ผลเป็นฝัก มี 4 ครีบ เมล็ดแบน รูปสามเหลี่ยม

ส่วนที่ใช้ : ใบสดหรือแห้ง เมล็ดแห้ง ดอกสดของต้นขนาดกลาง ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป

สรรพคุณ
:
  • ใบสด  -  รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ฝีและแผลพุพอง
  • ดอก, ใบสดหรือแห้ง - เป็นยาระบาย ยาถ่าย ถ่ายพยาธิลำไส้
  • เมล็ด  -  ขับพยาธิ เป็นยาระบายอ่อน


วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          ใบและดอกชุมเห็ดใช้เป็นยารักษาโรคและอาการดังนี้
  • เป็นยาระบาย ยาถ่าย แก้อาการท้องผูก
    ใช้ดอกชุมเห็ดเทศสด 1-3 ช่อดอก (หรือแล้วแต่คนที่ธาตุเบาธาตุหนัก ช่อดอกใหญ่หรือเล็ก) ต้มรับประทานจิ้มกับน้ำพริก หรือ ใช้ใบสด 8-12 ใบ ล้างให้สะอาด หั่นตากแห้ง หรือปิ้งไฟให้เหลือง หั่น ใช้ต้มหรือชงน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มให้หมด
    หรือใช้ใบแห้งบดเป็นผง ปั้นกับน้ำผึ้งเป็นลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ 3 เม็ด ก่อนนอน หรือเมื่อมีอาการท้องผูก
    หรือ ใช้เมล็ด คั่วให้เหลือง ชงน้ำดื่มเป็นน้ำชา เป็นยาระบายอ่อนๆ
  • เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน
    ใช้ใบสด 3-4 ใบย่อย ขยี้หรือตำในครกให้ละเอียด เติมเกลือเล็กน้อย หรือใช้ใบชุมเห็ดเทศกับหัวกระเทียมปริมาณเท่ากัน ผสมปูนแดงที่กินกับหมากนิดหน่อย ตำผสมกันทาบริเวณที่เป็นกลาก หรือโรคผิวหนัง โดยเอาผิวไม้ไผ่ขูดบริเวณที่เป็นกลากเบาๆ แล้วทายาวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็นจนกว่าจะหาย หายแล้วทาต่ออีก 7 วัน
  • รักษาฝีและแผลพุพอง
    ใช้ใบชุมเห็ดเทศ และก้านสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำพอท่วมยาแล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 ชะล้างบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ถ้าเป็นมากให้ใช้ประมาณ 10 กำมือ ต้มอาบ

สารเคมี : ใบ พบ anthraquinone เช่น aloe-emodin, chrysophanol, sennoside, flavonoids, terpenoids, iso-chrysophanol, physcion glycoside, kaempferol, chrysophanic acid, lectin, sitosterols, rhein
ตองแตก



ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Baliospermum montanum  Muell.A
ชื่อพ้อง :  Baliospermum solanifolium  (Burm.) Suresh
ชื่อสามัญ  
วงศ์  EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น :  ตองแต่ (ประจวบคีรีขันธ์) ถ่อนดี ทนดี (ภาคกลาง, ตรัง) โทะโคละ พอบอเจ๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) นองป้อง ลองปอม (เลย)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2 เมตร แตกแขนงจากโคนต้น ก้านใบเรียวยาว ยาว 2-6 ซม. ยอดอ่อนมีขน ใบ เดี่ยวเรียงสลับ มีขนาดและรูปร่างต่างๆ กัน ใบที่อยู่ตามปลายยอดรูปใบหอกหรือรูปรี กว้างประมาณ 3.5 ซม. ยาวประมาณ 7 ซม. ใบที่ตามโคนต้นมักจักเป็นพู 3-5 พู รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือเกือบกลม กว้างประมาณ 7.5 ซม. ยาว 15-18 ซม. โคนสอบหรือมน มีต่อม 2 ต่อม ปลายแหลม ขอบหยักแบบฟันเลื่อยห่างๆ ไม่สม่ำเสมอ มีเส้นใบออกจากโคนใบ 3-5 เส้น และออกสองข้างของเส้นกลางใบ ข้างละ 5-8 เส้น เส้นใบด้านล่างเห็นชัดกว่าด้านบน เนื้อบาง ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน หรือบนช่อเดียวกัน ช่อดอกเล็กเรียว ยาว 3.5-12 ซม. ดอกเพศผู้ มีจำนวนมาก อยู่ทางตอนบนของช่อ ดอกมีรูปร่างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มม. ก้านดอกย่อยเล็กเรียวคล้ายเส้นด้าย ยาว 3-5 มม. กลีบเลี้ยงมี 4-5 กลีบ รูปกลม ไม่มีกลีบดอก ฐานดอกมีต่อม 4-6 ต่อม เกสรเพศผู้มี 15-20 อัน อับเรณูคล้ายรูปถั่ว ดอกเพศเมียออกที่โคนช่อ กลีบเลี้ยงรูปไข่ปลายแหลม ขอบจัก ฐานดอกเป็นรูปถ้วยสั้นๆ รังไข่มี 3 พู ก้านเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก ม้วนออก ผล เป็น 3 พู กว้างประมาณ 1 ซม. ยาว 0.8 ซม. ปลายบุ๋ม มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ 2 อัน โคนผลกลม มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ผลแก่แตกตามยาวที่กลางพู แต่ละพูมี 1 เมล็ด เมล็ด รูปขอบขนาน
          ตองแตก ขึ้นในป่าดิบ ป่าไผ่ และตามที่รกร้างทั่วไป ถึงระดับความสูง 700 เมตร เขตกระจายพันธ์ ตั้งแต่อินเดีย (พบไม้ต้นแบบ) ปากีสถาน บังคลาเทศ ลงมาถึงพม่า อินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย

ส่วนที่ใช้ :
ราก ใบ เมล็ด

สรรพคุณ :
  • รากเป็นยาถ่าย ถ่ายไม่ร้ายแรงนัก ถ่ายลมเป็นพิษ ถ่ายพิษพรรดึก ถ่ายเสมหะเป็นพิษ (และมีคุณคล้ายหัวดองดึง) ถ่ายแก้น้ำดีซ่าน
  • ใบ, เมล็ด -  เป็นยาถ่าย ยาถ่ายพยาธิ แก้ฟกบวม
  • เมล็ด -  เป็นยาถ่ายแรงมาก (ไม่นิยมใช้)

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้ :
          ใช้ใบ 2-4 ใบ หรือ ราก 1 หยิบมือ ยาไทยนิยมใช้ราก 1 หยิบมือ ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อยรับประทาน

 
 
 
 
บานเย็นดอกขาว



ชื่อวิทยาศาสตร์  Mirabilis jalapa  L.
ชื่อสามัญ  Marvel of peru , Four-o’clocks
วงศ์  Nyctaginaceae
ชื่ออื่น :  จันยาม  จำยาม  ตามยาม  ตีต้าเช่า (จีน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเง้า สูง 1-1.5 ม. ลำต้นมีสีแดง มีนวลเล็กน้อย ใบรูปไข่ หรือรูปสามเหลี่ยม มีขนประปราย กว้าง 2-9 ซม. ยาว 5-15 ซม. ปลายใบแหลม โคนตัดหรือรูปหัวใจ ก้านใบยาว 1-4 ซม. กลีบประดับรูประฆัง ติดที่ฐาน ยาว 1-1.5 ซม. ดอกเกือบไร้ก้าน มี 4-5 ดอกในแต่ละช่อ บานตอนบ่ายๆ จนถึงตอนเช้า วงกลีบสีชมพู ม่วง ขาว เหลือง หรือด่าง ยาวประมาณ 3-6 ซม. ปากกลีบมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 2.5-3 ซม. เกศรเพศผู้ 5 อัน ยื่นออกยาวประมาณ 1 ซม. ก้านเกสรสีแดง อับเรณูทรงกลม รังไข่รูปรี ก้านเกศรเพศเมียยาวเท่าๆ เกสรเพศผู้ สีแดง ปลายเกสรเป็นตุ่ม เป็นพูตื้นๆ ผลรูปกลมรี สีดำ ขนาดประมาณ ยาว 0.5-0.9 ซม. เปลือกบาง มี 5 สัน เมล็ดกลม ขนาดประมาณ 0.7 ซม. บานเย็นมีถิ่นกำเนิดในประเทศเปรู มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในทวีปอเมริกาใต้ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดยเฉพาะดอกสีชมพู บางครั้งขึ้นเป็นวัชพืช

ส่วนที่ใช้ :  
ราก ใบ หัว
สรรพคุณ :
  • ราก -  มี alkaloid trigonelline  ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย
  • ใบ -  ตำทาแก้คัน และ พอกฝี
  • หัว -  รับประทานจะทำให้หนังชาอยู่คงกะพันเฆี่ยนตีไม่แตกกลับทำให้รู้สึกคัน
        -   รับประทานเป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ ระงับความร้อน
 
 
 

ผักกาดขาว
 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Brassica chinensis  (L.) Jusl.
ชื่อสามัญ  Chinese White Cabbage
วงศ์  Brassicaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นพืชอายุปีเดียว มีระบบรากตื้น ใบมีลักษณะห่อปลียาวหรืออาจห่อหลวมๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ใบมีสีขาวถึงสีเขียวอ่อน เป็นพืชวันยาวดอกมีสีเหลืองยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผักกาดขาวส่วนใหญ่มีการผสมข้ามโดยแมลงและผึ้ง

ส่วนที่ใช้ :
ราก ต้น

สรรพคุณ แก้หวัด  แก้ท้องผูก แก้ผิวหนังอักเสบจากการแพ้

วิธีใช้และปริมาณการใช้ :
  • ราก -  แก้หวัด แก้ท้องผูก ใช้รากผักกาดขาว 1 กำมือ ต้มน้ำดื่ม
  • ต้น -  แก้พิษจากรับประทานมันสำปะหลังดิบ ใช้ต้น ต้มน้ำดื่ม
         -   ผิวหนังอักเสบ จากการแพ้ ใช้ผักกาดขาวสด ตำพอก
มะขามแขก


 
ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Senna alexandrina P. Miller
ชื่อสามัญ  Alexandria senna, Alexandrian senna Indian senna
วงศ์  Fabaceae (Leguminosae-Caesalpinioideae)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 0.5 – 1.5 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปวงรีหรือรูปใบหอก กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 2.5-3.5 ซม. ดอกช่อ ออกที่ซอกใบตอนปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง ผลเป็นฝักแบน รูปขอบขนาน
ส่วนที่ใช้ใบแห้ง และฝักแห้ง ช่วงอายุ 1 เดือนครึ่ง (หรือก่อนออกดอก)
สรรพคุณ :
  • ใบและฝัก  -  ใช้เป็นยาถ่ายที่ดี ใบไซ้ท้องมากกว่าฝัก  
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          ใบมะขามแขกหนัก 2 กรัม หรือ 2 หยิบมือ หรือใช้ฝัก 10-15 ฝัก ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว 5 นาที ใส่เกลือเล็กน้อยเพื่อกลบรสเฝื่อน รับประทานครั้งเดียว หรือ ใช้วิธีบดใบแห้ง เป็นผงชงน้ำดื่ม บางคนดื่มแล้วเกิดอาการไซ้ท้อง แก้ไขโดย ต้มรวมกับยาขับลมจำนวนเล็กน้อย (เช่น กระวาน กานพลู อบเชย)  เพื่อแต่งรสและบรรเทาอาการไซ้ท้อง
          มะขามแขก เหมาะกับคนสูงอายุ ที่ท้องผูกเป็นประจำแต่ควรใช้เป็นครั้งคราว
ข้อห้าม :  ผู้หญิงมีครรภ์ หรือ มีประจำเดือน ห้ามรับประทาน
สารเคมี :  ใบและฝักพบสารประกอบพวก anthraquinones เช่น sennoside A.B.C.D. aloe emodin , emodin , rhein  , physcion , และสาร anthrones dianthrones

แมงลัก

 

ชื่อวิทยาศาสตร์   Ocimum basilicum  L.f. var. citratum Back.
ชื่อสามัญ  Hairy Basil
วงศ์ Apiaceae ( Labiatae )
ชื่ออื่น :   ก้อมก้อขาว มังลัก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นพืชล้มลุก ลำต้นตรง โคนต้นแข็ง สูงประมาณ 40-65 ซ.ม. แตกกิ่งก้าน ทุกส่วนมีกลิ่นหอม ใบ เดี่ยว สีใบสีนวล ใบมีขนอ่อน ๆ ใบเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ๆ ดอก ช่อ ออกที่ปลายยอด ช่ออาจเป็นช่อเดี่ยว หรือแตกออกเป็นช่อย่อย ๆ ดอกบานจากข้างล่างขึ้นข้างบน กลีบรองดอกจะคงทนและขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเป็นผล กลีบดอกสีขาวแบ่งเป็น 2 ปาก ร่วงง่าย เกสรตัวผู้จะยื่นยาวกว่ากลีบดอก ดอกย่อยออกโดยรอบก้านช่อเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีดอกย่อย 6 ดอก แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนละ 3 ดอก ดอกตรงกลางจะบานก่อน และช่อดอกย่อยที่อยู่ชั้นล่างสุดของก้านช่อดอกจะบานก่อนเช่นกัน ผล 1 ดอกมีผล 4 ผล ขนาดเล็ก คือเมล็ดแมงลัก รูปร่างรูปรีไข่ สีดำ

ส่วนที่ใช้
เมล็ด และใบ
สรรพคุณ :
  • เมล็ด  -  ออกฤทธิ์เป็นยาระบาย โดยการเพิ่มปริมาตรของกากอาหารกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้
  • ใบ -  ใช้ขับลม
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา  แช่น้ำให้พอง แล้วดื่มก่อนนอน จะช่วยทำให้ระบาย เป็นยาถ่าย

สารเคมี
:
          เมือกจากเมล็ด พบ D-xylos, D-glucose, D-galactose, D-mannose, L-arabinose, L-rhamnose, uronic acid , oil, polysaccharide และ mucilage

          ส่วนใบ  พบน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วย borneol L-B-cadinene, 1-8-cineol, B-caryophyllene, eugenol

 
 
 
 
 
ว่านหางช้าง (ว่านแม่ยับ)



ชื่อวิทยาศาสตร์ Belamcanda chinensis  (L.) DC.
ชื่อสามัญ Black Berry Lily, Leopard Flower
วงศ์   IRIDACEAE
ชื่ออื่น :  ว่านมีดยับ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 0.6 - 1.2 เมตร มีเหง้าเลื้อยตามแนวขนานกับพื้นดิน ใบเดี่ยว แทงออกจากเหง้า เรียงซ้อนสลับ กว้าง 2 - 3 ซม. ยาว 30 - 45 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด กลีบดอกสีส้มมีจุดประสีแดงกระจาย ผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกอ้า และกระดกกลับไปด้านหลัง

ส่วนที่ใช้
ราก เหง้าสด ใบ เนื้อในลำต้น

สรรพคุณ :
  • ราก เหง้าสด  - แก้เจ็บคอ  
  • ใบ เป็นยาระบายอุจจาระและแก้ระดูพิการของสตรีได้ดี
  • เนื้อในลำต้น 
    เป็นยาบำรุงธาตุ แก้โรคระดูพิการของสตรี
    -
     
    ใช้บำบัดโรคต่อมทอนซิลอักเสบ
    -
      ใช้เป็นยาถ่าย
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
  • แก้เจ็บคอ
    ใช้ราก หรือเหง้าสด 5-10 กรัม แห้ง 3-6 กรัม ต้มน้ำรับประทาน
  • เป็นยาระบาย และแก้ระดูพิการของสตรี
    ใช้ใบ 3 ใบ ปรุงในยาต้ม

ความรู้เพิ่มเติม - เกี่ยวกับทางด้านความเชื่อ
          มีความเชื่อกันว่าเป็นว่านมหาคุณ ปลูกไว้หน้าบ้านกันภัยอันตรายต่างๆ เพราะสามารถนำว่านนี้มาใช้ประโยชน์ทางไสยคุณได้ เช่น
  • ดอก  - ใช้แก้ไสยคุณที่เกิดจากการกระทำจากผม
  • ใบ - ใช้แก้ไสยคุณที่เกิดจากการกระทำจาก เนื้อ
  • ต้น - ใช้แก้ไสยคุณที่เกิดจากการกระทำจาก กระดูก
    ในภาคอีสาน นิยมปลูกเป็นว่านศิริมงคล แม่บ้านกำลังจะคลอดลูก ใช้ว่านหางช้างนี้พัดโบกที่ท้องเพื่อให้คลอดลูกง่ายขึ้น

ส้มเช้า


 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Euphorbia neriifolia  L. (E. ligularia  Roxb.)
ชื่อสามัญ  -
วงศ์  Euphorbiaceae
ชื่ออื่น :  -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-5 เมตร กิ่งก้านเป็นเหลี่ยม มีหนามแข็งตามมุม เรียงเป็นแถวตามยาว มีน้ำยางขาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 4-6 ซม. ยาว 10-15 ซม. ดอกช่อ รูปถ้วย ออกตามกิ่งก้าน ใบประดับสีเหลือง ดูคล้ายกลีบดอก ดอกย่อยแยกเพศ อยู่ในช่อเดียวกัน ไม่มีกลีบดอก ผลแห้ง

ส่วนที่ใช้ :
ใบ  ยาง 
สรรพคุณ :
  • ใบ  -  โขลกตำพอก ปิดฝี แก้ปวด ถอนพิษดี
  • ยาง
    เป็นยาระบายอ่อนๆ ขับพยาธิ แก้จุก แก้บวม
    ทำให้อาเจียน เบื่อปลาเป็นพิษ
    แก้ท้องมาน พุงโร ม้ามย้อย
    แก้ไข้จับสั่นเรื้อรัง ขับน้ำย่อยอาหาร

สมอไทย


 
ชื่อวิทยาศาสตร์  Terminalia chebula  Retz. var. chebula
ชื่อสามัญ  Myrabolan Wood
วงศ์  COMBRETACEAE
ชื่ออื่น :  มาแน่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) สมออัพยา (ภาคกลาง) หมากแน่ะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 20-35 เมตร เปลือกต้นขรุขระ ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้ามหรืเกือบตรงข้าม รูปวงรี กว้าง 6-10 ซม. ยาว 8-15 ซม. ดอก ช่อ ออกที่ซอกใบหรือปลายยอด เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบสีเหลือง ผลเป็นผลสด รูปวงรี มีสัน 5 สัน

ส่วนที่ใช้
ผลอ่อน  ผลแก่  ผล  ใบ
สรรพคุณ :
  • ผลอ่อน  -  มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ถ่ายเสมหะ ลดไข้ ขับลมในลำไส้
  • ผลแก่มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเดิน
  • ผลใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง มี Tannin มาก ใช้ทำหมึก
  • ใบเป็นยาสมานแผล เป็นยาบำรุงถุงน้ำดี
วิธีและปริมาณที่ใช้ : ใช้ผลอ่อน 5-6 ผล หรือ 30 กรัม ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใส่เกลือเล็กน้อย รับประทานครั้งเดียว จะถ่ายหลังให้ยาประมาณ 2 ชั่วโมง



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพื่อนบ้าน



แลกลิงค์ของคุณได้ที่นี่ค่ะ
ลิงค์ของเรามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างนี้ค่ะ

หากคุณต้องการที่จะนำลิงค์ของคุณมาเพิ่มในเว็บบล๊อกของเราให้คุณส่งข้อมูลลิงค์ของคุณมาได้ที่ได้ที่ E-mail...... < so.saichool@hotmail.com > ค่ะ แล้วเราจะทำการนำลิงค์ของคุณลงในเว็บบล๊อกของเราโดยเร็วที่สุด

หมายเหตุคุณต้องนำลิงค์ของเราลงในเว็บไซต์ของคุณให้เรียบร้อยเสียก่อนโดยเราจะตรวจสอบหลังจากที่คุณส่งข้อมูลที่คุณต้องการแลกลิงค์ของคุณมายังอีเมล์ของเรา (ข้อมูลคือโค้ดลิงค์ของคุณ)
ก๊อปปี้โค้ดลิงค์ลิงค์นี่ไปวางในเว็บของคุณ

ผู้ส่งเสริม

ลงโฆษณาที่นี่ครับ